โครงการพัฒนาสุนทรียภาพมิติภูมิทัศนศิลป์ ด้วยสื่อภาพเชิงศิลปะและวัฒนธรรม ครั้งที่ ๔

โครงการพัฒนาสุนทรียภาพมิติภูมิทัศนศิลป์

ด้วยสื่อภาพเชิงศิลปะและวัฒนธรรม ครั้งที่ ๔

 

 

หลักการและเหตุผล

การพัฒนาสุนทรียภาพด้วยเครื่องมือด้านศิลปะและวัฒนธรรมถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของคน  และการกระตุ้นให้ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะ  วัฒนธรรมนั้น  ย่อมเป็นการส่งเสริมพัฒนาปัจจัยภายในที่ดีงาม  ความมีสุนทรีย์อย่างมีรสนิยม

การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพภายในจิตใจของคนดังกล่าว  จึงจำเป็นจะต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่สามารถเชื่อมโยงความคิด  ความเชื่อ  ค่านิยมให้เข้ากับวิถีชีวิต  หรือวัฒนธรรมใหม่ ๆ ของสถาบันให้สอดคล้องกับบรรยากาศของการเรียนรู้

สภาพของสิ่งแวดล้อมที่ดีภายในสถาบันการศึกษา  หรือการเสริมสร้างพัฒนาบรรยากาศที่เอื้ออำนวยนั้น  ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมเกื้อหนุนให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น  การจัดสภาพบรรยากาศสิ่งแวดล้อม  หรือการปรับปรุงภูมิทัศน์ทั้งภายใน  และภายนอกชั้นเรียน  ย่อมจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการกระตุ้น  โน้มน้าว  หรือเกิดแรงผลักดันให้ผู้เรียนบรรลุเป้าประสงค์ในการเรียนดี  เรียนเก่ง  มีสุข  ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการศึกษาของสังคมไทยในปัจจุบัน

การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  โดยเฉพาะการมุ่งส่งเสริมบทบาทผู้เรียนได้เรียนรู้ค้นพบความรู้ด้วยตนเองด้วยการปฏิบัติจริง  หรือการใช้เทคโนโลยีได้ตามความจำเป็น  เช่น  การใช้สื่อวิทยุโทรทัศน์  คอมพิวเตอร์  อินเตอร์เน็ต  หรือการสร้างสรรค์สื่ออื่น ๆ  ภายในห้องเรียน  เป็นต้น  ย่อมถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญต่อการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนรู้  และนำไปสู่การยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์  เพื่อสร้างผลงานทางการเรียน  หรือผลงานทางวิชาการที่ได้อย่างมีคุณภาพ

การเสริมสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  มีลักษณะหลายประการ  เช่น  การสร้างบรรยากาศที่ท้าทาย  ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดกำลังใจ  เพื่อให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียน  การสร้างบรรยากาศที่เป็นอิสระเป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีการยอมรับนับถือตนเอง  ผู้เรียนโอกาสที่จะเลือกตัดสินใจต่อสิ่งที่มีคุณค่า  มีความหมาย  รวมทั้งโอกาสที่จะทำผิดพลาดด้วยตนเอง (พิชัย  เสงี่ยมจิตต์, ๒๕๔๒)

          กรมวิชาการ (๒๕๓๙)  ได้เสนอแนวทางในการจัดชั้นเรียนที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนไว้บางประการที่สำคัญ  เช่น  การจัดสื่อ  วัสดุ  อุปกรณ์  สื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์  โทรทัศน์  วิทยุเทปให้พอเหมาะแก่ความต้องการของนักเรียน  การจัดทำสื่อภาพถ่าย  หรือจัดให้มีการแสดงผลงานของนักศึกษามาแสดงให้นักศึกษาเกิดความภูมิใจ  และเกิดกำลังใจ  หรือจัดมุมเสริมความรู้ด้านต่าง ๆ เป็นต้น

กระทรวงศึกษาธิการยังได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญประการหนึ่งคือ  การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  ประเพณีอันดีงามประจำชาติ  ดังนั้น  การจัดแสดงถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมทุกแง่มุมผ่านทางสื่อภาพถ่าย  ก็ย่อมจะเกิดผลพวงที่ดีในการตอกย้ำความรู้  ความคิด  และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมทางวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแก่ผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้  การนำเสนอผลงานภาพถ่ายจากการดำเนินกิจกรรมตามโครงการดังกล่าว  นอกจากจะเสริมสร้างบรรยากาศด้านสุนทรียภาพ  ความงาม  การกระตุ้นให้ผู้พบเห็นได้ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว

การดำเนินโครงการโครงการพัฒนาสุนทรียภาพมิติภูมิทัศนศิลป์ด้วยสื่อภาพเชิงศิลปะและวัฒนธรรมในครั้งที่ ๓  ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗  ที่ผ่านมานั้น  ประสบความสำเร็จด้วยดีทั้งในเชิงปริมาณ  และในเชิงคุณภาพ  กล่าวคือ  ผลการประเมินโครงการจากนักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการ  นักศึกษาผู้ใช้ห้องเรียน  คณาจารย์  และเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่  พบว่า  ผู้เข้าร่วมโครงการตลอดจนผู้ใช้อาคารเรียนมีความพึงพอใจต่อการสร้างสรรค์พัฒนาสุนทรียภาพมิติภูมิทัศนศิลป์ในชั้นเรียนด้วยสื่อภาพเชิงศิลปะและวัฒนธรรม และนักศึกษามีความรู้  ความเข้าใจต่อแนวความคิดทางศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงานผ่านทางสื่อภาพถ่ายอยู่ในระดับมากที่สุด  ซึ่งการดำเนินโครงการประสบความสำเร็จตามตัวบ่งชี้เกินกว่าค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวในปีทีผ่านมา  ยังสะท้อนว่าสื่อภาพถ่ายเชิงศิลปะและวัฒนธรรมเป็นสื่อที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้  ความเข้าใจในการถ่ายทอดเนื้อหาสาระทางศิลปะและวัฒนธรรมได้  สามารถสะท้อนอารมณ์  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้ถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี  และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสุนทรียภาพภายในชั้นเรียน

ผลการดำเนินโครงการในครั้งที่ ๓ ที่ผ่านมา  ยังชี้ชัดว่าผู้เข้าร่วมโครงการ  และผู้ใช้อาคารเรียนยังได้สนับสนุนให้มีการดำเนินกิจกรรมตามโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง  เพื่อสนับสนุน  เสริมสร้าง  หรือช่วยกระตุ้นสุนทรียภาพโดยรวมให้แก่นักศึกษา  บุคลากร  หรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นในด้านทัศนศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและวัฒนธรรมในแง่มุมต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านดังกล่าวร่วมกัน

นอกจากนี้  การนำเสนอผลงานภาพถ่ายจากการดำเนินกิจกรรมตามโครงการดังกล่าว  นอกจากจะช่วยพัฒนาสุนทรียภาพให้แก่ผู้พบเห็นแล้ว  ภาพถ่ายเชิงศิลปะและวัฒนธรรมยังส่งผลกระทบต่อสังคมเชิงบวกในด้านศิลปะบำบัด (Art Therapy)  อีกประการหนึ่งให้แก่สาธารณะอีกด้วย  กล่าวคือ  ภาพถ่ายเชิงศิลปะและวัฒนธรรมยังจะช่วยสนับสนุนแนวคิดด้านศิลปะบำบัด  โดยมุ่งกระบวนการเสริมคุณประโยชน์ของผลงานเชิงศิลปะกับสาธารณชน  หรือผู้ที่ขาดความสมดุลเชิงจิตใจ  ซึ่งเป็นการมองการเยียวยาแบบองค์รวมทั้งมิติด้านความคิด  ด้านความรู้สึก  และด้านเจตจำนง

การใช้กระบวนการสร้างสรรค์ภาพถ่ายเชิงศิลปะและวัฒนธรรมที่ผสมผสานการใช้สื่อทางทัศนศิลป์  จึงย่อมนำพาให้เกิดแรงบันดาลใจ  ความผ่อนคลาย  การปลดปล่อย  การปล่อยวาง  และการแสดงออกถึงอารมณ์  หรือความรู้สึกของแต่ละบุคคล  และส่งผลในการดูแลอารมณ์  ความรู้สึกตัวเอง การแสดงออกต่อคนรอบข้าง  และการส่งเสริมให้เกิดพลังเชิงบำบัดต่อบุคคล  สังคม  หรือสาธารณชน

ดังนั้น  ภาพถ่ายเชิงศิลปะและวัฒนธรรมตามโครงการดังกล่าว  ก็ย่อมจะส่งผลในเชิงอารมณ์  และการสร้างพลังการบำบัดแก่จิตใจ  และเปลี่ยนเป็นพลังในเชิงสร้างสรรค์  หรือก่อให้เกิดกำลังใจจากการค้นพบเห็นสื่อภาพเชิงศิลปะและวัฒนธรรม  ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการกระตุ้นสภาวะสมดุลทางอารมณ์  เพื่อเสริมสภาวะสบายดี  หรือสบายใจในการดำเนินชีวิต  เผชิญปัญหา  และต่อสู้กับโรคภัย

จากความสำคัญของการสร้างสรรค์พัฒนาบรรยากาศ  หรือภูมิทัศน์ทั้งภายใน  และภายนอกชั้นเรียนดังกล่าว  คณะกรรมการดำเนินโครงการ  จึงได้ริเริ่มการดำเนินงานสานต่อ  “โครงการพัฒนาสุนทรียภาพมิติภูมิทัศนศิลป์ด้วยสื่อภาพเชิงศิลปะและวัฒนธรรม” ขึ้นเป็นครั้งที่  ๔  เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายทางศิลปะและวัฒนธรรมถาวรของนักศึกษาทั้งภายใน  และภายนอกในชั้นเรียน  อีกทั้งยังเป็นการสร้างสรรค์บรรยากาศในการเรียน  ซึ่งถือเป็นช่องทางอย่างหนึ่งในการพัฒนาเสริมสร้างภูมิทัศน์บรรยากาศทางศิลปะและวัฒนธรรม  เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน  หรือกระตุ้นให้ผู้เรียน  บุคลากรเกิดความสนใจในการสร้างสรรค์ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ  หรือเป็นช่องทางการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและวัฒนธรรม  และช่วยส่งเสริมแนวคิดการบำบัดจิตใจ  กระตุ้นสภาวะสมดุลเชิงอารมณ์ให้แก่บุคคล  หรือสาธารณชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

[Best_Wordpress_Gallery id=”27″ gal_title=”ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม”]

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *